ตำนานพระบุพระธาตุ

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2420 นายคำ (พ่อจารย์คำ) ขณะนั้นอายุประมาณ 17 ปีได้ไปขุดหลุมลานวัดพร้อมกับ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านเพื่อทำปะลำ เตรียมงานจัดบุญผะเหวด ขณะที่ขุดนั้น       พ่อจารย์คำขุดลงไปได้ประมาณ 1 ศอก  ปรากฏว่าได้สะดุดกับหม้อใบหนึ่ง จึงเกิดความสงสัย จึงเรียกเพื่อนๆช่วยกันขุดขึ้นมา  เมื่อนำขึ้นมาแล้วพบว่าเป็นลักษณะหม้อสองใบปากประกบกัน ใช้ปูนปิดโบกเอาไว้ ทุกคนต่างแปลกใจ เพราะหม้อสองในนั้นดูมีสีเหลืองอร่าม ด้วยความสงสัยจึงทุบหม้อออกดู ปรากฏว่าสิ่งที่บรรจุภายในนั้นคือพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 10 นิ้ว   สูง 17นิ้ว  หนักประมาณ7 กิโลกรัม  เป็นพระพุทธรูปางมารวิชัย ด้วยเหตุที่พระพุทธรูปได้นำขึ้นมาจากพื้นดิน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นความประสงค์ของพระพุทธรูปที่ต้องการขึ้นมาให้ประชาชนได้กราบไหว้  จึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระบุ” ตามการค้นพบ นับแต่นั้นมา

          ประมาณ พ.ศ. 2520-2425 หลังจากที่ได้พบพระพุทธรูปพระบุแล้ว ชาวบ้านต่างมีความยินดีและถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง  ได้ทำบุญสักการะ ในเทศกาลสำคัญๆ ของหมู่บ้าน เมื่อภิกษุสามเณรได้กวาดลานวัดด้วยตาด เพื่อทำความสะอาดบริเวณได้พบพระพุทธรูปได้บุขึ้นมาอีกสองครั้ง

ครั้งที่ 1 ได้พบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่กล่าวมาแล้ว (องค์พระบุ)

ครั้งที่ 2 ได้พบโดยใครไม่แน่ชัด พบพระองค์เล็กๆ ประมาณ 2-3 ขันโตก (เก็บในบือสิม)

ครั้งที่ 3 กลุ่มเด็กชายพึ่มและเพื่อนๆ ไม่มาเล่นที่ลานวัด  และได้ใช้เหรียญสตางค์เพื่อขุดเพื่อเล่นโยนหลุม ตามประสาเด็กๆ ขณะที่ทำได้สะดุดกับเศียรพระพุทธรูป ชาวบ้าน ภิกษุและ   สามเณร ที่วัดต่างยินดี จึงช่วยกันขุดและได้พบพระพุทธรูปจำนวนหนึ่ง (เก็บในบือสิม)

          การได้พบพระบุ  ภิกษุสามเณร ชาวบ้านต่างดีใจ จึงทำการเสี่ยงทายว่าพระพุทธรูปมีความประสงค์จะสถิตย์อยู่ที่ใด จากการเสี่ยงทายพบว่า พระบุไม่ต้องการไปอยู่ที่อื่น เมื่อทราบความประสงค์ดังนั้น ชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างพระธาตุเพื่อบรรจุองค์พระบุเอาไว้

          ในปี พ.ศ. 2425 ภิกษุ สามเณร และชาวบ้าน  นำโดยหลวงวินัย  ได้ร่วมกันสร้างองค์ธาตุขึ้น ด้วยแรงศรัทธา ต่างช่วยกันไปเผา อิฐ ปูน จากหินปูนที่ฮ่องลี่ ลำน้ำสายหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านแคน    ห่างจากหมู่บ้านประมาณ  2  กิโลเมตร และได้ใช้เกวียนบรรทุกทรายมาจากแม่น้ำมูล การสร้างองค์ธาตุได้สร้างพร้อมกันกับโบสถ์ องค์ธาตุสององค์ ลักษณะห้าชั้น ธาตุองค์ ใหญ่อยู่ทิศใต้สูงประมาณ 15 เมตร  องค์ทิศเหนือสูงประมาณ 10 เมตร รอบองค์ธาตุได้สร้างลานปูนและกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะองค์ธาตุคล้ายๆกับพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทาสีด้วยปูนขาว เสร็จเมื่อประมาณ พ.ศ. 2432  การก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 7 ปี

หลังจากสร้างองค์ธาตุเสร็จก็ได้อัญเชิญพระบุ ลงมาบรรจุภายในองค์ธาตุนั้น  และโบกปูนปิดช่องเอาไว้อย่างแน่นหนา ชาวบ้านต่างมีความศรัทธาและมีการประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ตลอดทั้งวันพระ ด้วยบารมีแห่งองค์ธาตุพระบุ ทำให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขสืบมา

ต่อมาข่าวการพบพระบุ ได้แพร่สะพัดออกไปทั่วสารทิศ มีผู้คนมาสักการะกราบไหว้จำนวนมาก  และแสดงตนอยากได้พระบุไปเป็นเจ้าของ  ชาวบ้านแคนมีความวิตกอย่างมาก เกรงว่าจะสูญหาย ถ้าเก็บรักษาไม่ดีพอ จนกระทั่งคหบดีชาวเมืองโคราช(จังหวัดนครราชสีมา)

ชื่อนายสงเมือง (เจ๊กสงเมือง) พร้อมลูกน้องประมาณ 10 คน เดินทางมาโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะจำนวน 2 เล่มและได้มาพักอยู่นอกหมู่บ้านบริเวณหนองสระใต้ มีความประสงค์ที่จะซื้อพระบุไป

          เจ็กสงมืองได้เข้าไปกราบหลวงปู่แก้ว  ขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาส เจ็กได้นำผ้าไตรมาถวายแล้วแจ้งความประสงค์ คือต้องการบูชาซื้อพระบุไป  จึงได้นำเงินแข็ง จำนวน 1,000 เหรียญ(เงินโลหะ 1,000 บาท)  ถวายหลวงปู่แก้ว  หลวงปู่แก้วได้ให้ซาสิลา  (ซา  เป็นคำนำหน้าพระที่บวชมากว่า 5 พรรษา หดสรงครั้งที่สอง จารย์ครูจะบวชมากกว่า 5 พรรษาขึ้นไปและชาวบ้านจะหดสรงสามครั้งขึ้นไป) ขณะที่ท่านเป็นพระลูกวัด จึงไปทุบปูนที่โบกองค์ธาตุเอาไว้ เพื่อเอาพระบุออกมา ชาวบ้านทราบข่าวจึงมาดูการกระทำของจารย์สิลา กันหลายคน

          เมื่อทุบเสร็จถึงองค์พระบุ ซาสิลา ได้ใช้มือล้วงเพื่อดึงพระบุออกมา แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ คล้ายองค์พระบุจะไกลออกไปเรื่อยๆ จวบกับแขนและมือของซาสิลายาวไม่ถึง  จึงได้ใช้ไม้ดึงออกมาแทน ขณะที่ดึงออกมานั้น ทำให้เศียรพระหลุดออจากองค์พระ และขณะที่นำองค์พระออกมาปรากฏเสียงครืนๆ สามครั้ง  เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง องค์ธาตุได้ทรุดลงอย่างไม่คาดคิด  ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้คนที่มาดู  องค์ธาตุได้ขยับองค์ในลักษณะเอียง 80 องศา  ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (พระธาตุองค์ใหญ่) นับแต่นั้นมา

เมื่อเจ๊กสงเมืองได้รับมอบพระบุแล้ว หลวงพ่อแก้วให้แห่รอบบ้าน เพื่อให้ทราบว่าเจ๊กสงเมืองกำลังจะนำพระบุออกจากบ้านแคนไป  ชาวบ้านบางคนเห็นด้วยและยินดี ส่วนบางคนไม่เห็นด้วย ร้องไห้เสียใจเพราะนี่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านแคน

เจ็กสงเมืองนำองค์พระบุไปถึงเมืองโคราช จึงให้ลูกน้องนำองค์พระเข้าเตาหลอม เพื่อที่จะนำทองที่ได้จากการหลอมองค์พระบุไปทำอย่างอื่น ขณะที่พระบุเข้าเตาหลอมนั้น เจ๊กสงเมืองได้ตายอย่างกะทันหัน โดยไม่ทรายสาเหตุ ลูกน้องต่างตกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และองค์พระบุไม่หลอมละลายแต่อย่างใด  เห็นเพียงรอยไหม้ดำที่ไหล่ขวา เมื่อไม่สามารถหลอมได้ ภรรยาของเจ็กสงเมือง  จึงสั่งให้ลุกน้องนำพระบุออกจากเตาหลอม และนำมาเก็บไว้ที่บ้าน ในช่วงระยะเวลาที่เก็บพระบุไว้ที่บ้าน ภรรยาและลูกของเจ็กสงเมืองได้เจ็บป่วยกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เกิดไฟไหม้เมืองโคราชอย่างไม่คาดคิด ชาวเมืองโคราชเสียใจเศร้าโศก กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนภรรยาเจ๊กสงเมืองเมื่อประสบกับเหตุการณ์เช่นนั้น ได้ให้คนนำข่าวให้ชาวบ้านแคนทราบและให้ไปรับองค์พระบุกลับคืนสู่บ้านแคน

          ทางบ้านแคน เมื่อพระบุได้จากไป ปรากฏว่าคนได้ยินเสียงร้องไห้รอบหมู่บ้าน เป็นการบอกถึงลางไม่ดี (แม่ดีตาย ลูกชายชื่อนัน ลูกสาวซื่อวงศ์ กับแม่ดีร้องไห้รอบหมู่บ้าน เป็นเวลา 3 วัน3 คืน เพราะเกิดอุบัตวเหตุ บัดนี้ลูกนันกับลูกวงศ์  มานั่งฟังได้ยินเหมือนแม่ของตนแต่บ่แม่น(ไม่ใช่) เลยเข้าใจว่าเป็นเสียงปู่ตา(ปู่ตาสีคอนเตา เป็นปู่ตาที่รักษาหมู่บ้าน) ร้องไห้เพราะห้ามหลวงปู่มืด บ่ฟัง ที่สิเผาบ้านเผาเมือง เพราะเหตุว่าทำผิดอย่างร้ายแรง (คำพูดของพ่อดี วงศ์มนตรี ขณะอายุ 93 ปี) 

ทางบ้านแคน ขณะที่พระบุเข้าเตาหลอม เด็กชายเหลา มะปะโม ขณะนั้นอายุประมาร 7 ปี ได้เล่นไฟตามประสาเด็กน้อย แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น  คือไฟไหม้ลุกลามหลังคาบ้าน เพราะบ้านขณะนั้นมุงด้วยหญ้าคา ไฟได้ไหม้อย่างรวดเร็ว โดยหลังแรกเป็นพ่อใหญ่ขุนพรม ขณะนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน หลังที่สองเป็นของพ่อใหญ่ขันอาสา หลังที่สามเป็นของพ่อใหญ่จานซาหล่า และได้ลุกลามไปเรื่อยๆ จากคุ้มเหนือสู่คุ้มใต้ แต่มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์คือ บ้านของผู้ใดที่ไม่เห็นด้วย ไม่ยินดี ให้เจ๊กสงเมืองนำพระบุไป  ถึงแม้ไฟจะลามถึงฝาบ้านจนเกรียมดำ แต่ไฟไม่ได้ไหม้ ส่วนบ้านใดที่ยินดีให้เจ็กสงเมืองนำพระบุไป แม้จะอยู่ไกลสักเพียงใด ไพหญ้าที่ติดไฟปลิวไปกับลมเหมือนแร้งบิน ตกลงบนหลังคา เกิดไฟลุกไหม้ เสียงไหปลาแดก (ปลาร้า) แตกดังสนั่น เสียงข้าวแตกปานเสียงคั่ว ผู้คนร้องให้กลัว เพราะไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน ไฟได้ไหม้บ้านประมาณ 60 หลัง จาก100 หลังคาเรือน แต่วัดไฟไม่ไหม้ ถึงแม้ไพหญ้าที่ติดไฟจะตกลงหลังคาวัดก็ตาม เนื่องจากหลังคามุงด้วยดินเผา หลังจากไฟดับ ทุกคนเหมือนสิ้นเนื้อประดาตัว อดอยากยากแค้น ทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัส

ฝ่ายจารย์สิลา ก็ถึงกับเสียสติ วิ่งไปทุ่งนาเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้านเสียหาย ถึงกระนั้นก็ยังไม่ทิ้งจีวร สังฆา แต่จำเป็นต้องสึกเพราะเสียสติ (มีคนเล่าว่าบ้านที่ไฟไหม้ลุกลามเลยไป โดยที่ไม่ไหม้คือบ้านแม่ใหญ่ขน แคนดา(ปัจจุบัน เลขที่ 90 หมู่ที่ 1 ตำบลแคน)

          เมื่อญาติของเจ็กสงเมืองมาแจ้งข่าวให้ชาวบ้านแคนได้ทราบ  และให้ไปรับองค์พระบุคืนมา หลวงปู่แก้วไม่ได้ส่งคนไปรับเอง ได้ประสานกับพี่ชาย คือจารย์ครูสิ่ว แห่งบ้านโนนม่วง (ไม่ทราบตำบล อำเภอ) ให้ไปรับองค์พระบุคืนมา

ในการเดินทางกลับของพระบุ ได้ถูกส่งมาตามวัดต่าง ๆ ตามรายทาง เมื่อถึงวัดใดเจ้าอาวาสของแต่ละวัดก็จะแต่งให้พระลูกวัด ชาวบ้าน นำส่งต่อมายังวัดอื่นๆเรื่อยมา จนถึงวัดบ้าน นาข่า วัดบ้านวังจาน และข้ามลำน้ำเสียวมายังวัดสระแคน บ้านแคน

การจากไปของพระบุเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน เมื่อพระบุกลับมายังวัดบ้านแคน ทุกคนต่างดีใจ ชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง และได้เก็บรักษาอย่างดียิ่ง ฝ่ายซาสิลาได้หายจากอาการเสียสติอย่างน่าอัศจรรย์

หลังจากที่พระบุกลับมาถึงวัดสระแคนแล้ว ก็เกิดความวิปริต เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล นานถึง 7 ปี  ข้าวยากหมากแพง อดยาก เจ็บไข้ได้ป่วย เดือดร้อนกันอย่างมา        แม่สวน แคนถา (อายุ 67 ปี) เล่าว่าพ่อของท่านบางวันไม่ได้กินข้าว กินอ่อมหอยใส่ผัก กินเผือก มัน บางวันกินเฉพาะหุงหมากขี (หมากขี คือเมล็ดของไผ่) ซึ่งตรงข้ามกับก่อนที่พระบุจะออกจากบ้านแคนไป บ้านแคนเคยอุดมสมบูรณ์ ด้วยข้าวปลาอาหาร เมื่อครบ 7 ปี ฝนจึงตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านเชื่อว่า นี่เป็นการลงโทษที่ชาวบ้านได้กระทำผิดไป

ประมาณ พ.ศ. 2490 ยอดขององค์ธาตุใหญ่ทางทิศใต้ได้พังลงมา พระภิกษุสามาณรได้ช่วยกันเก็บซาก(ก้อนอิฐ ก้อนหิน )ที่พังลงมาไว้ข้างๆ องค์ธาตุและ พ.ศ. 2520 ได้พังลงมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ธาตุองค์ใหญ่ได้พังลงมาเกือบถึงครึ่ง หลวงพ่อดิเรก เจ้าอาวาสวัดสระแคน ในขณะนั้น(พระครูวรพจน์พิศาล เจ้าคณะตำบลแคนเขต 1 รูปปัจุบัน) ภิกษุ สามเณร ทายกทายิกา และชาวบ้านได้ปรึกษาหารือและสรุปให้มีการบูรณะอีกครั้ง

เมื่อ พ.ศ. 2525 คณะกรรมการหมู่บ้านได้ไปว่าจ้างช่างจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้มาบูรณะซ่อมแซมธาตุองค์ใหญ่  เมื่อบูรณะองค์ใหญ่เสร็จ ก็มีการบูรณะองค์เล็กโดยช่างพ่อใหญ่ตุ่ม หงส์ประสิทธิ์  (นายคูณ หงส์ประสิทธิ์) และคณะ  ในขณะที่ทำการบูรณะได้เกิดอุบัติเหตุ องค์ธาตุได้ได้พังลงมา ทำให้ช่างได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย หลายคน แต่ก็สามารถบูรณะจนแล้วเสร็จ จึงได้จัดงานเฉลิมฉลองและสักการะกราบไหว้ จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันองค์พระบุและธาตุพระบุ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองบ้านแคน ชาวบ้านแคน ลูกหลาน ตลอดจนผู้ศรัทธา ได้มากราบไหว้บูชา เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเฉพาะในวันพระ วันสำคัญทางศาสนา และช่วงเทศกาลต่างๆ ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และแรงศรัทธา ชาวบ้านได้ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อเสี่ยงทายชะตาชีวิต ของตนเอง และลุกหลาน ขอความคุ้มครองในการเดินทาง ทำให้ชาวบ้านแคนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา จนกระทั่งปัจจุบัน

สำหรับการพบพระพุทธรูปครั้งที่ 2 และ 3 นั้น ชาวบ้านได้นำพระพุทธรูปทั้งหมดลงไว้ใน บือสิม (บือโบสถ์) ในการบูรณะโบสถ์คราวที่ผ่านมา (มุงหลังคาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2508) โบสถ์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นการก่อสร้างบูรณะครั้งที่สาม

           *******************************************************